ระดมผู้ทรงคุณวุฒิทั่วโลก ถก “ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขสภาพ ในโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ”
ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยสุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ ICGW 2024
สถาบันการสร้างชาตินานาชาติ (Nation-Building Institute International (NBII)) และองค์กรพันธมิตรระดับโลก ร่วมจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยสุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ 2567 (The International Conference on GoldenZone Wellness (ICGW) 2024) ในหัวข้อ “สุขสภาพในโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ” (Wellness in the World of Disparity) ในวันที่ 27 มิ.ย. 2567 โดยมีผู้นำ ผู้บริหารระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้สนใจจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 3,500 คน ทั้งในระบบออนไซต์และออนไลน์
การจัดประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความเห็นและนำเสนอผลงานวิชาการล่าสุดจากนานาชาติ เกี่ยวกับการศึกษาความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างตัวแปรต่าง ๆ และความเหลื่อมล้ำด้านสุขสภาพ รวมถึงการนำเสนอแนวทางการสร้างโอกาสด้านสุขสภาพอย่างเท่าเทียม โดยพิจารณาจากการดำเนินงานของชุมชน นโยบายสาธารณสุขเพื่อส่งเสริมสุขสภาพของประชาชน กลยุทธ์ในการสนับสนุนสุขสภาพที่ครอบคลุมทุกด้าน และการส่งเสริมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสุขสภาพอย่างยั่งยืน
การประชุม ICGW 2024 ได้รับเกียรติจากผู้นำและผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง ร่วมกล่าวปาฐกถา อาทิ ผผู้แทน รมว.สมศักดิ์ เทพสุทิน, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, ศ.ดร.ซาวาธอว์เร่ ดิ ซอมมา, ผอ.องค์การอนามัยโลก ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส, ศ.นพ.ธันยชัย สุระ, รศ.ดร.สุขกิจ ยะโสธรศรีกุล, ดร.ชาลส์ เอ็น. โรทิมี, ดร.ธิดาทิพย์ วงศ์สุรวัฒน์, ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา, ดร.ฟาเติน เบน อับเดลาซิซ, ทิโบลต์ ดานจู, ดร.ยงยุทธ มัยลาภ, ดร. เอกชัย เพียรศรีวัชรา, นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์, ดร.แพทย์หญิง ประภา วงศ์แพทย์, นพ.สมพงษ์ ชัยโอภานนท์, รองศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช, รศ.ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย, พญ.กัลยรัตน์ สุขเรือง
ทั้งนี้ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และประธานสถาบันการสร้างชาติ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Health & Wellness Equality in the World of Disparity” ในงานประชุมครั้งนี้ว่า การพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมด้านสุขสภาพ ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่ ความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในขณะที่ระบบทุนนิยมยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างกลุ่มคนกว้างขึ้น ความจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพราะแนวคิดสุขสภาพเป็นการพัฒนาแบบเป็นองค์รวมและครอบคลุมหลายมิติ ในขณะที่โลกแยกออกเป็นหลายขั้วและมีความร่วมมือลดลง อีกความท้าทายหนึ่ง คือ การสร้างความเท่าเทียมด้านสุขสภาพต้องใช้เวลายาวนาน โดยเฉพาะการพัฒนาพฤติกรรมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อสุขสภาพ แต่ก็ต้องเผชิญการแข่งขันกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่ทำลายสุขสภาพ และนักการเมืองมักไม่สนใจประเด็นระยะยาว และความท้าทายประการสุดท้าย คือ ต้นทุนการสร้างระบบสุขภาพถ้วนหน้าจะสูงขึ้น จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุจะมีอายุยืนขึ้น แต่มีช่วงเวลาที่สุขภาพไม่ดียาวนานขึ้น ความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่ และแรงกดดันด้านอุปสงค์และอุปทานในบริการสุขภาพ เนื่องจากการเข้ามาใช้บริการของนักท่องเที่ยว คนต่างด้าว และผู้อพยพ
ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวถึงข้อเสนอการสร้างความเท่าเทียมด้านสุขสภาพ ภายใต้ความท้าทายดังกล่าวว่า “ผมมีข้อเสนอว่า ควรจำแนกความเท่าเทียมด้านสุขสภาพเป็น 2 แบบ ความเท่าเทียมแบบพื้นฐาน คือ ทุกคนต้องมีโอกาสมีสุขสภาพดีอย่างน้อยในระดับพื้นฐาน (Basic Wellness Equality) และความเท่าเทียมอุตมภาพ (Optimal Wellness Equality) กล่าวคือ ประชาชนสามารถพัฒนาสุขสภาพในระดับสูงขึ้นได้ แต่ในภาพรวมไม่ควรแตกต่างกันมากเกินไป และควรหารายได้จากการให้บริการระดับสูง เพื่อนำรายได้มาช่วยยกระดับสุขสภาพของคนที่เสียเปรียบ ข้อเสนอประการต่อมา คือ การพัฒนาความเท่าเทียมด้านสุขสภาพแบบเบ็ดเสร็จ 3 ระดับ คือ ระดับประเทศ เพื่อยกระดับสุขสภาพของทุกคน ระดับกลุ่มคน เพื่อแก้ปัญหาสุขสภาพเฉพาะกลุ่มที่เสียเปรียบ และระดับบุคคล เพื่อแก้ปัญหารายบุคคลแบบตัดเสื้อพอดีตัว”
“ข้อเสนอประการต่อมา คือ การพัฒนาอย่างครบถ้วนและบูรณาการ ทั้งปัจจัยด้านพันธุกรรม พฤติกรรม สภาพแวดล้อมชุมชน และนโยบาย การพัฒนาคน ระบบ บริบทที่เอื้อต่อสุขสภาพ และสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง และข้อเสนอประการสุดท้าย คือ การกระจายความรับผิดชอบด้านสุขสภาพ เช่น การส่งเสริมการดูแลสุขสภาพด้วยตัวเอง และภายในครอบครัว การสร้างกลุ่มครอบครัว (Wellness Fraternity Unit) เพื่อช่วยเหลือในการดูแลสุขสภาพให้กันและกัน การพัฒนามาตรฐานและวัฒนธรรมด้านสุขสภาพในองค์กร และการพัฒนาชุมชนที่พึ่งพาตัวเองได้ด้านสุขสภาพ เป็นต้น” ดร.แดน กล่าว
******************************************************************************